วันศุกร์ที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2554

“กวดวิชา เรียนพิเศษ” จำเป็นหรือแฟชั่น

โดย จิตรา วงศ์บุญสิน

 เรียนพิเศษ เรียนเสริม เรียนซ่อม เรียนเร่งรัด เป็นสิ่งที่สังคมไทยมีมานาน เพื่อเป็นการช่วยเหลือเด็กที่เรียนอ่อน หรือเพื่อเรียนให้ทันเพื่อน ต่อมามีการเก็บค่าเรียน กลายเป็นการเรียนแบบธุรกิจการค้า มีการจัดหลักสูตรแบ่งเป็นรายวิชา จึงเปลี่ยนการเรียกเป็น “กวดวิชา” จุดมุ่งหมายในการเรียนเริ่มเปลี่ยนไป ไม่ใช่เฉพาะเด็กที่เรียนอ่อนเท่านั้น แต่เด็กทุกคนที่เรียนกวดวิชาต้องการเรียนให้เก่งขึ้น เรียนเก่งกว่าคนอื่นในวิชา โดยเฉพาะเมื่อต้องมีการสอบคัดเลือก ก็จะเลือกเรียนกวดวิชาที่ตัวเองคิดว่าขาดหรือไม่เก่งพอ  

        การกวดวิชาไม่ใช่พบแต่ในประเทศไทย แต่พบได้หลายประเทศทั้งในทวีปเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี จีน อินโดนีเซีย พม่า ในทวีปอัฟริกา ยุโรปตะวันออก และอเมริกากลาง  ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาระบุตรงกันว่า การเรียนกวดวิชาจะพบในกลุ่มประเทศที่คุณภาพของโรงเรียนและมหาวิทยาลัยไม่ทัดเทียมกันเด็กนักเรียนมีความจำเป็นในการแข่งขันเพื่อเข้าเรียนโรงเรียน หรือมหาวิทยาลัยที่มีคุณภาพ แต่รับนักเรียนได้จำกัด โดยมีความหวังว่าจะมีโอกาสและอนาคตที่ดีกว่าคนอื่น  

        การเรียนกวดวิชาในประเทศไทยมีมาตั้งแต่เมื่อไรไม่เคยมีคนเขียนไว้ แต่ประมาณว่ามีมาไม่น้อยกว่า 40 ปี มีหลายระดับชั้นที่มีการสอบแข่งขันเข้าโรงเรียนของรัฐ และระดับมหาวิทยาลัย เช่น ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 มัธยมศึกษาปีที่ 1 มัธยมศึกษาปีที่ 4 และมหาวิทยาลัย แต่ระดับชั้นที่มีการกวดวิชาหนาแน่นที่สุดคือ ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ประมาณกันว่ามีเด็กนักเรียนประมาณร้อยละ 30 หรือประมาณ 330,000 คน/ปี  เรียนกวดวิชาในปี พ.ศ. 2549  

        สำหรับธุรกิจเรียนกวดวิชานั้น เคยมีผู้ประเมินเรื่องค่าเรียนว่าไม่ต่ำกว่าปีละ 3,000 ล้านบาท โดยมีเด็กนักเรียนเรียนเฉลี่ย 3 คอร์สต่อเทอม ค่าเรียนเฉลี่ยคอร์สละประมาณ 2,000 บาท    

        งานวิจัยของ ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์ คณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ถามแบบสอบถามนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายจำนวน 2,000 คน และได้ถามแบบสอบถามผู้ปกครอง  อาจารย์ นักศึกษามหาวิทยาลัยชั้นปีที่ 1 จำนวน 1,000 คน พบว่า  

        ‘ เด็กเรียนเก่ง (เกรดเฉลี่ย 3.00 ขึ้นไป) เรียนกวดวิชามากกว่าเด็กเรียนอ่อน (เกรดเฉลี่ย  2.00-2.50)  
        ‘ เด็กในเมืองเรียนกวดวิชามากกว่าเด็กนอกเมือง (ร้อยละ 70 ของเด็กในเมืองเรียนกวดวิชา ส่วนร้อยละ 10-20 ของเด็กนอกเมืองที่เรียนกวดวิชา)    
        ‘ อาชีพผู้ปกครอง พบว่า รับราชการหรือค้าขายส่งบุตรหลานเรียนกวดวิชามากกว่าอาชีพเกษตรกรหรือประมง  

        ถ้านับธุรกิจเสริมนอกจากค่าเรียนกวดวิชาได้แก่ ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าพิมพ์คู่มือ ค่าเอกสารอื่นๆ ค่าใช้จ่ายจะเพิ่มเป็นเงินปีละประมาณ 14,000 ล้านบาท 

จุดมุ่งหมายของเด็กนักเรียนที่เรียนกวดวิชา

   1.   ต้องการให้ผลการเรียนดีขึ้น ยิ่งมีการใช้ GPA ร้อยละสูงขึ้น ยิ่งต้องกวดวิชามากขึ้น ผลการเรียนจะได้ดีขึ้น เพราะเป็นการเตรียมตัวล่วงหน้า ทำให้เข้าใจง่ายขึ้น และค่า GPA ก็จะดีขึ้นด้วย
   2.   เชื่อว่าเรียนกวดวิชาช่วยในการสอบแข่งขันเข้ามหาวิทยาลัย โดยเฉพาะวิชาหลักที่คะแนนมีความแตกต่างสูง เช่น คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ภาษาอังกฤษ
   3.    เพื่อให้ได้เทคนิคการทำข้อสอบ ได้พบข้อสอบแปลกใหม่ที่ไม่เคยพบมาก่อน สามารถทำข้อสอบได้ง่ายขึ้น แม่นยำขึ้น ใช้เวลาน้อยลงเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2545 ได้มีการจัดการเสวนาโดยนักวิจัยและผู้เกี่ยวข้องด้านการศึกษาหลายฝ่าย เรื่อง “วิกฤตที่สะท้อนความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา” สรุปว่า สาเหตุของการเรียนกวดวิชามีองค์ประกอบที่ซับซ้อน 3 ด้านด้วยกัน 

1.   ด้านวิชาการ
   1.1   การเรียนการสอนในโรงเรียน จะเน้นเนื้อหาให้ครอบคลุมครบหลักสูตรทั้งทางทฤษฎีและปฏิบัติ มีการแจกใบงานเก็บคะแนน และสอบ ส่วนการเรียนกวดวิชาจะเน้นเนื้อหาที่ใช้สอบระหว่างปี และสอบเข้ามหาวิทยาลัย มีการสรุป การทดลองทำข้อสอบ การเฉลย และการเก็งข้อสอบเบ็ดเสร็จ
   1.2   ครูแต่ละโรงเรียนมีคุณภาพไม่เท่ากัน อัตราครูต่อเด็ก 1:40-50 คน ครูที่มีคุณภาพดีในสาขาหลักๆ ทั่วประเทศมีไม่ถึงร้อยละ 30 นอกจากนี้ครูในโรงเรียนยังต้องทำงานหนัก ทั้งงานสอน งานปรับวุฒิ งานนโยบายที่มีไม่ขาดสาย ทำให้ไม่มีเวลาที่จะเพิ่มพูนความรู้ด้านวิชาการ ไม่มีเวลาในการเตรียมการสอนเท่าที่ควร ขณะที่ครูโรงเรียนกวดวิชาจะมีเวลามากกว่าเพราะทุ่มเทวิชาเดียว การมีลูกศิษย์จากสถานศึกษาหลากหลายจะพบปัญหามากกว่า มีเวลาเตรียมการสอนมากกว่าโดยมีผลตอบแทนที่สูงกว่ากันมากหลายเท่า
   1.3   การสอบเข้ามหาวิทยาลัย ออกข้อสอบโดยอาจารย์มหาวิทยาลัยที่ไม่ได้สอนเด็ก  ข้อสอบจะเน้นการแข่งขันด้านวิชาการ เนื้อหาของข้อสอบแต่ละปีจะยากขึ้นเรื่อยๆ บ่อยครั้งที่เนื้อหาข้อสอบสูงกว่าหลักสูตรที่เรียนอยู่ ทำให้นักเรียนมีความจำเป็นต้องเรียนกวดวิชา 

2.   ด้านจิตวิทยา  
        เนื่องจากคุณภาพของครู และการเรียนการสอนที่แตกต่างกันในแต่ละโรงเรียน ทำให้เด็กรวมทั้งผู้ปกครองเกิดความวิตกว่าจะเสียเปรียบ จึงพยายามที่จะช่วยตัวเองและลูกหลานด้วยการเรียนกวดวิชา จากแบบสอบถามของอาจารย์ไพฑูรย์ พบว่าแม้เด็กที่เก่งอยู่แล้วหรือเด็กที่อยู่ในโรงเรียนที่มีคุณภาพระดับต้นของประเทศไทย ก็ยังรู้สึกไม่มั่นใจถ้าไม่ได้ไปเรียนกวดวิชา 

3.   ค่านิยมของสังคม  
        ค่านิยมในการเข้าศึกษาต่อในสถาบันที่มีชื่อเสียง ทำให้มีการแข่งขันในระบบการศึกษาสูง ผู้มีโอกาสมีฐานะจึงนิยมเรียนกวดวิชา เพราะเห็นว่าการเรียนกวดวิชาจะสร้างความมั่นใจให้สามารถเข้าเรียนในสถาบันที่มีชื่อเสียงได้  
        ธุรกิจบัณฑิตโพลเรื่อง “ค่านิยมมหาวิทยาลัย และอาชีพของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย” รายงานผลการสำรวจนักเรียนจำนวน 1,376 คน พบว่า อาชีพที่อยากเรียนคือ วิศวกร แพทย์ นิเทศศาสตร์ ทันตแพทย์ เภสัชกร นักเรียนส่วนใหญ่รู้สึกว่าการเรียนกวดวิชายังจำเป็นเพื่อสร้างความมั่นใจให้เข้าสถาบันที่มีชื่อเสียงได้ 

ปัญหาและผลกระทบของการเรียนกวดวิชา
   1.   คุณภาพชีวิตของเด็กกับครอบครัวลดลง เพราะเด็กต้องทุ่มเวลาในการเรียนตลอดสัปดาห์ ไม่เว้นวันเสาร์อาทิตย์ เฉลี่ยวันละ 2-3 ชั่วโมง ทำให้เวลาพักผ่อนไม่พอ ไม่ได้ออกกำลังกาย สุขภาพไม่แข็งแรง มีความเครียด สมองอ่อนล้า ขาดสมาธิ เด็กบางคนที่ทนรับไม่ไหว ป่วยบ่อย และบางคนผลการเรียนเลวลง ทั้งที่ใช้เวลาเรียนมากขึ้น
   2.   สร้างพฤติกรรมเห็นแก่ตัวมากขึ้น ขาดความเห็นอกเห็นใจเอื้ออาทรจากพฤติกรรม แย่งที่นั่ง จองที่ให้เพื่อน หวงความรู้
   3.   ภาวะความเสี่ยงสูงขึ้น เนื่องจากการเรียนกวดวิชาเป็นช่วงเวลาเย็นถึงค่ำ จะมีอันตรายต่อเด็ก โดยเฉพาะเด็กผู้หญิง นอกจากนี้ เด็กบางคนอาจมั่วสุมถือโอกาสเที่ยวต่อ เพราะแหล่งที่เรียนกวดวิชามักจะมีร้านอาหาร ร้านเกมส์ สถานเริงรมย์ ตั้งอยู่ด้วย      ความเสี่ยงจากอุบัติเหตุไฟไหม้ เพราะสถานที่เรียนกวดวิชาหลายแห่ง คับแคบ เป็นห้องเล็กๆ ไม่มีบันไดหนีไฟ
   4.   การเรียนกวดวิชาเพิ่มค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของครอบครัว ทั้งค่าเรียน ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าหนังสือ ค่าถ่ายเอกสารอื่นๆ จากการวิจัยของอาจารย์ไพฑูรย์ พบว่าใช้เงินประมาณร้อยละ 10-15 ของรายได้ครอบครัว  

        ในภาพรวมของประเทศ การสูญเงินปีละกว่า 3,000 ล้านบาทเพื่อเรียนกวดวิชานับว่าไม่คุ้มเพราะ
   1.   ด้านวิชาการ    เนื้อหาที่ได้จากการเรียนกวดวิชามักจะเหมือนเดิม  อาจมีเพิ่มเติมเล็กน้อย เด็กนักเรียนได้แต่ความมั่นใจในการทำข้อสอบและเทคนิคทำข้อสอบ ไม่ได้ทำให้สติปัญญาดีขึ้น ไม่เพิ่มความคิดสร้างสรรค์ ไม่เพิ่มความสามารถด้านวิเคราะห์ สังเคราะห์
   2.   ด้านสังคม    การเรียนเพิ่มวันละ 2-3 ชั่วโมง ไม่มีวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ทำให้เด็กเครียด ไม่ได้ออกกำลังกาย เหนื่อยล้า คุณภาพในการเรียนรู้ลดลง และเป็นวงจรหนึ่งที่ยิ่งขยายช่องว่างความแตกต่างทางเศรษฐกิจและสังคมของคนไทย 

สรุป  

        การเรียนกวดวิชาไม่น่าจะใช่แฟชั่น เพราะไม่เคยหายไปจากสังคมไทยมาหลายสิบปี มีแต่จะเพิ่มขึ้น การเรียนกวดวิชาน่าจะเป็นภาวะจำยอมมากกว่าจำเป็น  เพราะเหตุผลทางด้านวิชาการ จิตวิทยาและสังคม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น